สำรวจ Challenger deep จุดที่ลึกที่สุดในโลกร่องก้นสมุทรมาเรียนา
เผยแพร่ : 8/12/2566
จำนวนผู้เข้าชม : 4,981
เคยตั้งคำถามกันมั้ยว่า ทะเลสวย ๆ ที่เราชอบไปนั่งมองเหม่อ และปล่อยใจจอย ๆ เวลามีเรื่องไม่สบายใจนั้น ภายใต้คลื่นผิวน้ำที่กระทบฝั่ง มีอะไรซ่อนอยู่ใต้ก้นทะเลบ้าง ?
มีคนเคยบอกว่า มนุษย์เรารู้จักดาวอื่น ๆ นอกโลก มากกว่าใต้มหาสมุทรของตัวเองด้วยซ้ำ แต่ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ? สาเหตุก็เพราะแรงดันน้ำที่เป็นอุปสรรคในการออกแบบยานพาหนะที่แข็งแรงพอจะทนแรงบีบอัดขนาดมหาศาลได้นั่นเอง
แต่แม้จะยากลำบากแค่ไหน มนุษย์เราก็หาทางจนได้ เพราะเมื่อปี ค.ศ. 1960 มียานสำรวจน้ำลึกตรีเอสต์ ได้ลงไปสำรวจที่ร่องก้นสมุทรมาเรียนา และจดบันทึกจุดที่ลึกที่สุดในโลกไว้ ในชื่อว่า Challenger deep นั่นเอง ซึ่งถ้าอยากรู้จักเจ้าจุดที่ลึกที่สุดในโลกกันแล้วนั้น ก็ตามไปอ่านได้เลย
ร่องก้นสมุทรมาเรียนา ที่อยู่ของ Challenger deep
ก่อนไปพูดถึง Challenger deep เราต้องย้อนกลับมาพูดถึง ร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา กันก่อน ซึ่งมันคือแนวเขตที่เรียกว่า แผ่นธรณีแปรสัณฐาน หรือที่เรียกชื่อในภาษาอังกฤษว่า “Tectonic Plates” สองแผ่นมาชนกัน ณ บริเวณเขตมุดตัวของเปลือกโลก
โดยเจ้าแผ่นธรณีแปซิฟิก เป็นฝ่ายลอดลงไปใต้แผ่นธรณีมาเรียนา ทำให้เกิดก้นของร่องลึกของจุดนี้ที่เรียกว่า Challenger deep นั่นเอง
Challenger deep ลึกขนาดไหน ?
ถ้าถามว่าจุดที่ลึกที่สุดในโลก มันลึกขนาดไหน ขอบอกเลยว่า มันอยู่ลึกกว่าความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์ที่อยู่บนแผ่นดิน วัดขนาดความลึกได้ประมาณ 10,911 เมตรจากระดับน้ำทะเล เลยทีเดียว
โดยลักษณะของมันเป็นแอ่งขนาดเล็กที่ก้นของร่องลึกใต้มหาสมุทร มีรูปร่างคล้ายดวงจันทร์เสี้ยวขนาดค่อนข้างใหญ่ ซึ่งร่องเหล่านี้ก็เป็นลักษณะภูมิประเทศที่ลึกผิดปกติใต้ท้องมหาสมุทรอยู่แล้ว
แน่นอนว่าความลึกระดับนี้ แรงดันอากาศของน้ำก็ต้องมหาศาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้มันเป็นจุดที่เต็มไปด้วยปริศนามากมาย เพราะมีมนุษย์ลงไปสำรวจน้อยมาก เรียกได้ว่าน้อยกว่าบนดวงจันทร์ที่อยู่นอกโลกเสียด้วยซ้ำ !
Writer
ปองกานต์ สูตรอนันต์
Photographer
นฤมล เสือแจ่ม