RSPG-สถานีบูรพา เป็นเว็บแอพพลิเคชันและฐานข้อมูลภายใต้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-ม.บูรพา ที่รวบรวมข้อมูลทรัพยากรในภาคตะวันออกของไทย เปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี โดยสามารถอ้างอิงบทความวิจัยได้ ที่นี่

วัฒนธรรมดนตรีกับวิถีชีวิต
ในท้องถิ่นภาคตะวันออก

กรณีศึกษาหนังตะลุงคณะรักษ์ตะลุง จังหวัดตราด

The Culture of Music and Indigenous living in eastern region : A Case study of Shadow puppets, Raksa Talung Company, Trad Province

ผศ.ดร.รณชัย รัตนเศรษฐ

อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรี คณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพทางด้านดนตรีวิทยา มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อสำรวจแหล่งข้อมูลพื้นฐานทางวัฒนธรรมดนตรีกับวิถีชีวิตชุมชนในท้องถิ่นภาคตะวันออก : กรณีศึกษาหนังตะลุงคณะรักษ์ตะลุง จังหวัดตราด 2. เพื่อนำข้อมูลวัฒนธรรมดนตรีกับวิถีชีวิตชุมชนในท้องถิ่นภาคตะวันออก : กรณีศึกษาหนังตะลุงคณะรักษ์ตะลุง จังหวัดตราด มาบันทึกตามกระบวนการทางด้านดนตรีวิทยา
ผลการศึกษาพบว่า 1) คณะรักษ์ตะลุง จังหวัดตราด มีนายเฟื้อง ใจเที่ยงเป็นหัวหน้าคณะ ก่อตั้งคณะครั้งแรกโดยครูฉอ้อนและครูโสน นุชสมบัติ โดยนายเฟื้องเป็นลูกศิษย์รุ่นที่ 2 และยังไม่มีผู้สืบทอด ลักษณะการแสดง การเชิดหนังคล้ายการเชิดหนังใหญ่ ใช้ภาษาภาคกลางในการร้องและภาษาถิ่นตราดในการพากย์ ใช้วรรณกรรมจากรามเกียรติ์และนิทานพื้นบ้านเป็นหลัก 2) บทบาทของงานดนตรีที่มีต่อวิถีชีวิตในชุมชน โดยทาหน้าที่ให้ความบันเทิงกับชุมชนในเทศกาลประเพณีบุญต่างๆ รวมทั้งในพิธีกรรม เช่น งานแก้บน เป็นต้น 3) รูปแบบอัตลักษณ์ของงานดนตรี การประสมวงใช้เครื่องดนตรีเพียง 5 ชิ้น ได้แก่ โทน กลองตุ๊ก ฉิ่ง ขลุ่ย ซอด้วง บทเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง ส่วนใหญ่ใช้วิธีการด้น โดยนำทำนองจากเพลงไทยเดิมและเพลงพื้นบ้าน มาผสมผสานทำนองเพลง เพื่อให้บทเพลงมีเนื้อหาและความยาวพอดีกับบทร้องและบทพากย์ ในด้านจังหวะมีรูปแบบจังหวะดังนี้ ช่วงโหมโรงจะใช้รูปแบบจังหวะ 9 รูปแบบ ช่วงบทไหว้ครู 1 รูปแบบ และเข้าสู่ช่วงประกอบการแสดงจะใช้รูปแบบจังหวะ 3 รูปแบบ สลับกันไปในการดำเนินเรื่อง