RSPG-สถานีบูรพา เป็นเว็บแอพพลิเคชันและฐานข้อมูลภายใต้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-ม.บูรพา ที่รวบรวมข้อมูลทรัพยากรในภาคตะวันออกของไทย เปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี โดยสามารถอ้างอิงบทความวิจัยได้ ที่นี่

แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล

ขนบธรรมเนียมประเพณี

ประเพณีแห่พญายม




ประเพณีแห่พญายม เป็นประเพณีที่เกี่ยวกับความเชื่อของชาวตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีการประกอบพิธีกันในช่วงวันสงกรานต์คือวันที่ 17 - 18 เมษายน โดยจะมีการปั้นองค์พญายม ทำพิธีเซ่นไหว้ และแห่ไปรอบๆ ตำบลบางพระก่อนจะนำไปลอยลงทะเล มีความเชื่อว่า พญายมเป็นเจ้าแห่งภูตผีปีศาจ ดังนั้นการอัญเชิญองค์พญายมลอยลงสู่ทะเล เปรียบได้ว่าสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย ทั้งปวงจะหายลงไปในทะเลด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันชาวตำบลบางพระได้สืบสานประเพณีนี้ต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ และเป็นการสร้างความสามัคคีให้คนในชุมชนร่วมกันคิดแก้ปัญหา ช่วยกันทำจนหน่วยงานองค์กรปกครองท้องถิ่นเห็นความสำคัญจึงเข้ามามีส่วนร่วม มีการปรับเปลี่ยนวิธีการบ้างแต่ยังคงพิธีกรรมตามความเชื่อของบรรพบุรุษไว้

ภาพประกอบ

คลิกเพื่อดูภาพใหญ่

ก่อนปั้นองค์พญายม ผู้ปั้นคนปัจจุบันคือ นายประพันธ์ พลเมืองรัตน์ จะอธิษฐานจิตบอกครูบาอาจารย์ ขอพรให้องค์พญายมช่วยปัดเป่าเภทภัยพิบัติให้ทุกข์โศกมลายสิ้นไปจากชุมชนตำบลบางพระในการปั้นองค์พญายมจะใช้โครงลวดขึ้นรูป เครื่องทรงใช้ปูนที่ทำจากเปลือกหอยบดผสมทรายละเอียด ทำให้ดูสง่าน่าเกรงขาม เมื่อปั้นองค์พญายมเสร็จแล้ว ในวันที่ 17 เมษายน ชาวบ้านจะมารวมตัวกันเพื่ออัญเชิญองค์พญายมไปประทับ ณ ชุมชนคอเขาพัฒนา หมู่ที่ 4 เพื่อทำพิธีเบิกเนตรและทอดผ้าป่า นำเงินถวายวัด รุ่งขึ้นวันที่ 18 เมษายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายเทศกาลวันไหลสงกรานต์ของตาบลบางพระ เวลาประมาณ 13.00 น. จะอัญเชิญองค์พญายมขึ้นบนรถยนต์ ชุมชนต่าง ๆ ห้างร้านบริษัท และหน่วยงานราชการจะจัดตกแต่ง รถบุปผาชาติอย่างสวยงาม เข้าร่วมในริ้วขบวนแห่อัญเชิญองค์พญายม โดยใช้เส้นทางตามถนนสุขุมวิทไปรอบชุมชนต่าง ๆ ในตำบลบางพระ ตลอดเส้นทางจะมีประชาชนคอยสรงน้ำพระพุทธรูป รูปปั้นอดีต เจ้าอาวาสวัดเกจิอาจารย์ ที่เคารพนับถือ พร้อมอธิษฐานจิตฝากทุกข์โศกไปกับองค์พญายม ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร กว่าจะถึงชายทะเลชุมชนท้ายบ้านหมู่ที่ 1 ต้องใช้เวลา ประมาณ 4 ชั่วโมง เมื่ออัญเชิญ องค์พญายมมาถึงบริเวณพิธี ชายฉกรรจ์จะช่วยกันแบกขึ้นประทับบนโต๊ะที่จัดเตรียมไว้โดยหันหน้าท่านออกสู่ทะเล เบื้องหน้ามีเครื่องบูชาประกอบด้วยกระถางธูป บายศรี แจกันดอกไม้ พร้อมอาหารเครื่องเซ่นคาวหวาน และผลไม้จำนวน 5 โต๊ะ ก่อนนำท่านลอยลงสู่ทะเลชาวบ้านได้นิมนต์พระสงฆ์จากวัดต่างๆ ในชุมชน 9 รูปเจริญพระพุทธมนต์ และพราหมณ์หลวงจากเทวสถานโบสถ์ พราหมณ์ทำพิธีอ่านเทวโองการเสร็จแล้วเชิญชาวบ้านจุดธูปอธิษฐานจิตเพื่อฝากเคราะห์ทุกข์โศกไปกับองค์ พญายมและจุดธูปถวายเครื่องสังเวยท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 ทิศ เวลาประมาณ 18.30 น. ก่อนที่ตะวันจะลับขอบฟ้าเมื่อเสียงประทัดดังขึ้นเป็นสัญญาณ ชายฉกรรจ์จะช่วยกันหามองค์พญายมประทับลงบนแพ

ในสมัยก่อนนั้นตำบลบางพระ เป็นชุมชนชายทะเล และมีภูมิประเทศเป็นป่ารก ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่นา และประมง ต่อมาได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรียทำให้คนเจ็บป่วยล้มตายจำนวนมาก ไม่มีวิธีการใดแก้ไขได้ จนวันหนึ่งมีชาวบ้านฝันว่ามีวิธีการที่จะทำให้พ้นจากความทุกข์ และภัยพิบัตินั้นได้ คือต้องปั้นองค์พญายมและให้ชาวบ้านมารวมตัวกันที่กลางลานบ้านเพื่อทำพิธีบวงสรวง เซ่นไหว้ ขอขมาลาโทษฝากความทุกข์โศกโรคภัยไข้เจ็บแล้วอันเชิญองค์พญายมไปลอยลงทะเล จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน ว่าการแห่พญายมมีการทำกันมาตั้งแต่ราว พ.ศ. 2442 ระยะแรก ๆ มีการปั้น องค์พญายมที่บ้านกำนันเป๊ะ นางหลา บัวเขียว วิธีการปั้นองค์พญายม ก็ใช้วัสดุที่หาได้ง่าย ๆ ในท้องถิ่น เช่น ใช้ไม้ไผ่ทำเป็นโครงขึ้นรูปด้วยฟางข้าว กระดาษถุงปูนซีเมนต์ทำเป็น เครื่องทรงอย่างกษัตริย์ แล้วแต่งแต้มด้วยดินหม้อ ดินสอพอง ผิวกายใช้ลูกเสมามาคั้นเอาน้ำซึ่งมีสีแดง ส่วนดวงตาทาด้วยผลหมากสุกทำให้หน้าตา องค์พญายมดูน่าเกรงขาม มือขวาถือบ่วงบาศ มือซ้ายถือ ไม้เท้ายมทัณฑ์ ใช้ไม้ไผ่ทำเป็นเสลี่ยงสำหรับหามองค์พญายมเวลาแห่นำท่านไปลอยลงทะเล ความเชื่อเกี่ยวกับพญายมนั้น มีอยู่ในทุกชาติทุกภาษาต่างกันแต่ชื่อ ฝรั่งเรียกว่า Baphomet คนจีนถือว่า พญายมเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง สำหรับความเชื่อของคนไทยมีปรากฏในหนังสือไตรภูมิ พระร่วง ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นโดยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) สมัยกรุงสุโขทัย แต่ในความเชื่อของทุกชาติทุกภาษาก็คล้ายกันคือท่านเป็นเจ้าแห่งภูตผีปีศาจมีหน้าที่ตัดสินบุญบาปดวงวิญญาณที่ตาย

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, พิธีประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติประจำปีพุทธศักราช 2556, 1, สํานักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2556, หน้า 120-121.