RSPG-สถานีบูรพา เป็นเว็บแอพพลิเคชันและฐานข้อมูลภายใต้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-ม.บูรพา ที่รวบรวมข้อมูลทรัพยากรในภาคตะวันออกของไทย เปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี โดยสามารถอ้างอิงบทความวิจัยได้ ที่นี่

กีฬาภูมิปัญญาไทย

การเล่นพื้นบ้าน

ชักเย่อเกวียนพระบาท


ชักเย่อเกวียนพระบาท ของชาวตำบลตะปอน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เป็นการละเล่นที่กระทำควบคู่กับ ประเพณีชักพระบาท หรือเรียกสั้นๆ ว่า ประเพณีชักพระซึ่งเป็นประเพณีสำคัญของภาคใต้ ที่ทำกันในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ประเพณีชักพระของชาวตะปอน จังหวัดจันทบุรี จะคล้ายคลึงกับประเพณีชักพระทางภาคใต้ แต่ลักษณะของการประกอบพิธีกรรมอาจมีความแตกต่างกันน่าจะมาจากการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ สภาพความเป็นอยู่และวิถีชีวิต กล่าวคือ ทางภาคใต้ของประเทศไทยมีลักษณะภูมิประเทศที่ติดกับทะเล
ประชาชนประกอบอาชีพทำการประมง จึงใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง ใช้ในการประกอบอาชีพ และใช้ในการประกอบพิธีกรรมที่สำคัญต่างๆ ด้วย พาหนะที่ใช้ลากพระบาทของภาคใต้จึงมีสัญลักษณ์เป็นเรือที่เรียกว่า “เรือพระ” ส่วนที่จังหวัดจันทบุรี พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ติดกับทะเล ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในสมัยก่อนเกวียน เป็นพาหนะที่สำคัญในการเดินทาง การขนส่ง บรรทุกคน บรรทุกพืชผลทางการเกษตร และใช้ประกอบพิธีกรรมที่สำคัญต่างๆ ของจังหวัดจันทบุรี การชักลากผ้าพระบาทของจังหวัดจันทบุรีจึงใช้เกวียนเป็นพาหนะ (หยาดพิรุณ พวงสุวรรณ์, 2549) ซึ่งแตกต่างจากภาคใต้

ภาพประกอบ

คลิกเพื่อดูภาพใหญ่

1. ลักษณะการเล่นที่แข่งกันชักเย่อตัวเกวียน ซึ่งเป็นยานพาหนะสำคัญที่ใช้ในสมัยโบราณไม่พบเห็นในประเทศอื่น จัดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศไทยที่ไม่เหมือนใคร
2. การบรรทุกผ้าพระบาทที่มีรอยพระบาทจำลองของพระพุทธเจ้าไว้บนเกวียนขณะทำการเล่นเป็นกีฬาที่พัฒนามาจากพิธีกรรมทางศาสนาพุทธแฝงด้วย ความเชื่อและค่านิยม ที่ส่งเสริมการทำความดีตามหลักพุทธศาสนา มีความหมายและความสำคัญยิ่งต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านในท้องถิ่น
3. การเล่นที่มีการตีกลองเร่งเร้าให้จังหวะประกอบการเล่น สร้างความสนุกสนาน คึกคักเพิ่มความมีชีวิตชีวา ให้ผู้เล่น ผู้เชียร์ และผู้ชม เป็นลักษณะการเล่นที่โดดเด่นเฉพาะท้องถิ่น
วิธีการเล่น
- อุปกรณ์การเล่น ประกอบด้วย เกวียน 1 คัน ผ้าพระบาทที่นำมาจากวัดตะปอนน้อย 1 ผืน เชือก 1-2 เส้น กลอง ไม้ตีกลอง 1-2 อัน ที่นั่งคนตีกลอง 1-2 ที่ การเตรียมอุปกรณ์ในการเล่นชักเย่อเกวียนพระบาท ทีมงานจะนำเชือกผูกติดกับเกวียนสมัยโบราณทั้งสองด้าน คือ ด้านหน้าของเกวียนและด้านหลังของเกวียน บนเกวียน จะผูกผ้าพระบาทที่ห่อเป็นม้วน (บางท้องถิ่นจะพับซ้อนทับกันเป็นตั้งมีเชือกมัดไว้) จัดที่วางไว้อย่างโดดเด่น ประดับ ดอกไม้อย่างงดงาม ต้องจัดเตรียมกลอง ไม้ตีกลอง จัดที่นั่งคนตีกลองไว้บนเกวียน และจัดคนตีกลองไว้ด้วย
- สถานที่เล่น สถานที่เล่นต้องเป็นพี้นที่โล่งกว้าง มักเล่นกันที่ลานวัด ถนนระหว่างหมู่บ้าน ลานกว้างระหว่างหมู่บ้าน หรือในทุ่งระหว่างหมู่บ้าน ทำเส้นหรือปักธงเป็นเครื่องหมายไว้ที่นี่ ข้างแนวทางที่จะทำการชักเย่อไว้ 3 จุด คือ ที่กึ่งกลางเกวียน และห่างจากกึ่งกลางเกวียนไปทางด้านหน้า และด้านหลังของเกวียน เป็นระยะ 5-6 เมตรเท่าๆ กัน หรือตามที่ตกลงกัน สมมุติเป็นเขตแดนของแต่ละฝ่าย
- ผู้เล่น ผู้เล่นส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในท้องถิ่น แบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งถือเชือกยืนเป็นแถวตอน อยู่ด้านหน้าเกวียน อีกฝ่ายหนึ่งถือเชือกยืนเป็นแถวตอนอยู่ด้านหลังเกวียน โดยแต่ละฝ่ายต้องยืนอยู่หลังเขตแดนของฝ่ายตน มักจัดผู้เล่นให้เหมาะสมกัน ตามวัย ตามเพศ เช่น รุ่นเด็ก รุ่นหนุ่มสาว รุ่นผู้ใหญ่ รุ่นสูงอายุ บางโอกาสก็มีการจัดแข่งคละเพศกัน คือ ฝ่ายชายแข่งกับฝ่ายหญิง โดยฝ่ายชายมักต่อจำนวนผู้เล่นให้ฝ่ายหญิงมีจำนวนมากกว่า
- วิธีเล่น เมื่อกรรมการให้สัญญาณเริ่มเล่นด้วยการนับ 1, 2, 3 เมื่อได้ยินคำว่า 3 ทั้งสองฝ่ายจึงจะเริ่มเล่นได้ หรือให้สัญญาณด้วยการตีกลอง แต่ละฝ่ายก็ออกแรงดึงกันเต็มที่ คนตีกลองที่นั่งบนเกวียนจะตีกลองเพื่อสร้างความสนุกสนานในการแข่งขัน บ้างก็ร้องเพลงประกอบให้จังหวะการดึงไปด้วย ฝ่ายใดลากเกวียนเข้ามาในเส้นเขตแดนของตนเองได้ ก็จะถือว่าเป็นฝ่ายชนะ การแข่งขันจะต้องชนะ 2 ใน 3 ครั้ง ความเชื่อนายกาญจน์ กรณีย์ อายุ 70 ปี ซึ่งเป็นไวยาวัจกรของวัดตะปอนน้อย และเป็นประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขลุง เล่าความเชื่อของชาวตะปอนกับประเพณีชักเย่อเกวียน หรือชักเย่อเกวียนพระบาท สรุปความเป็นประเด็นได้ว่า
1. ผ้าพระบาท เป็นผ้ากว้าง 1.5 เมตร ยาว 7 เมตร บนผ้าเขียนรอยพระบาทจำลอง 4 รอยซ้อนกันบนผืนผ้า ตามตำนานเชื่อกันว่ารอยพระบาท 4 รอยนี้ เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ รอยนอกใหญ่สุด เป็นรอยพระบาทของพระกุตสันโธ รอยที่สองเล็กลงมาเป็นรอยของพระโคนาดม รอยที่สามเป็นรอยของพระกัสสปะและรอยที่สี่เล็กที่สุดเป็นรอยของพระศาสนโคดมหรือ พระพุทธเจ้า ชาวบ้านเชื่อกันว่าผ้าพระบาทเป็นของสูงที่ชาวบ้านต้องเคารพสักการะบูชา
2. ที่มาของผ้าพระบาทจำลอง ผ้าพระบาทจำลองนี้นำมาจากวัดช้างไห้ จังหวัดปัตตานี อัญเชิญมาทางเรือขึ้นฝั่งที่บ้านคลองยายดำ และมีการฉลอง 7 วัน 7 คืน จากนั้นนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดตะปอนน้อย พอถึงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปีก็จะนำมาทำบุญและใช้ในประเพณีการชักเย่อเกวียนพระบาท
3. เกวียนพระบาทที่บรรทุกผ้าที่เขียนรอยพระบาทพระพุทธเจ้า ถือกันว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ชาวตะปอนมีความศรัทธา และปรารถนาจะเข้ามาร่วมขบวนแห่ ร่วมกันดึง ลากเกวียนพระบาท เพราะเชื่อกันว่าทำแล้วจะเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว เป็นการแสดงและปลูกฝังความสามัคคีของคนในท้องถิ่น
4. ในสมัยก่อนเชื่อว่า รอยพระบาท 4 รอยที่เขียนบนผืนผ้าใส่เกวียนแห่ และตีกลองฆ้องสนั่นไปทั่วหมู่บ้าน สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่เป็นโรคระบาดในท้องถิ่นได้ ซึ่งสอดคล้องกับคำบอกเล่าของผู้สูงอายุในท้องถิ่นอีกคนคือ ผู้ใหญ่แปลก ปิตาคุณ อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 ตำบลตะปอน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ( เกิด พ.ศ. 2430 มรณะ พ.ศ. 2520) เล่าให้ฟังว่า เกิดโรคห่าระบาดทั่วไปในหมู่บ้านและตำบล ผู้คนล้มตายมากมาย เป็นที่น่าเวทนา ท่านพ่อเพชร เจ้าคณะแขวงเมืองขลุงในขณะนั้น (เจ้าอธิการเพชร อินทปัญโญ เจ้าคณะแขวงเมืองขลุง: พ.ศ. 2425 ถึง พ.ศ.2457 : ข้อมูลศาสนสถาน วัดตะปอนใหญ่) ได้แนะนำให้นำผ้าพระบาทออกแห่แหน ไปทั่วทั้งตำบล เมื่อชาวบ้านได้ทำตามคำแนะนำของท่านพ่อเพชรแล้ว ปรากฏว่า โรคห่าได้หายไปจากหมู่บ้านและตำบล ต่อมาประมาณ ปี พ.ศ. 2461 ได้เกิดโรคห่า (กาฬโรคและไข้ทรพิษ) ระบาดขึ้นอีกครั้งในตำบลตะปอน ผู้คนล้มป่วยกันมากมาย ถึงขนาดต้องใช้ใบตองกล้วยรองนอน (ปรากฏในจดหมายที่ พระมหามงคล ได้ถวายรายงานไปยัง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2461 เรื่องการเปิดสำนักเรียนในจังหวัดจันทบุรี ว่า “.....เกล้ากระหม่อมได้เปิดการเรียนขึ้น 2 สำนัก คือที่ วัดจันทนารามแห่ง 1 มีนักเรียน 25 รูป ที่วัดตะปอนน้อยอีกแห่งหนึ่ง มีนักเรียน 21 รูป............แต่ตำบลนี้พระชำนาญในทางหนังสือมีน้อย ชั้นต้นจึงมีนักเรียน เพียง 21 รูป เผอิญมาในศกนี้ มีโรคภัยไข้เจ็บมาก ทั้งกาฬโรคและโรคไข้ธรรมดา.....” ) ท่านพระครูบุรณสถานสังฆกิจ (ท่านพ่อจิ่น) เจ้าอาวาสวัดตะปอนน้อยในขณะนั้น ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดวันยาวบน และได้รับการแต่งตั้ง เป็นเจ้าคณะแขวงเมืองขลุงจึงได้นำผ้าพระบาทออกแห่แหนรอบตำบลอีกครั้งหนึ่ง แล้วเกิดเหตุอัศจรรย์ โรคร้ายต่างๆ ได้หายไปจากตำบลตะปอนจนหมดสิ้นอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ประชาชนทั้งในตำบลตะปอน และตำบลใกล้เคียงเกิดพลังศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของผ้าพระบาท ทำให้เกิดประเพณีแห่ผ้าพระบาท และชักเย่อเกวียนพระบาทขึ้นมาจนทุกวันนี้
5. การชักเกวียนผ้าพระบาท ช่วยขจัดภัยธรรมชาติของท้องถิ่น ช่วยให้ปัญหาทางธรรมชาติในท้องถิ่นเบาบางลง ซึ่งสอดคล้องกับคำบอกเล่าของผู้สูงอายุในท้องถิ่นอีกคน คือ ลุงบุญมี ใจตรง อายุ 66 ปี กล่าวว่าจากการแห่เกวียนที่บรรทุกผ้าพระบาท ทำให้มีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นหลายประการ เช่น ทำให้ฝนตกในฤดูแล้ง ทำให้ชาวบ้านเกิดศรัทธา จึงมีการสืบทอดประเพณีติดต่อกันมาทุกปี พิธีกรรมประเพณีการแข่งขันชักเย่อเกวียนพระบาทของชาวตะปอน จังหวัดจันทบุรี จะจัดกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (เทศกาลปีใหม่ตามประเพณีไทย) และจัดวันที่ 17 เดือนเมษายนของทุกปี โดยมีขั้นตอนทางพิธีกรรม ดังนี้
- วันที่ 13 เมษายน เป็นการทำบุญตามเทศกาลสงกรานต์
- วันที่ 14 เมษายน จัดพิธีอัญเชิญผ้าพระบาทขึ้นสู่เกวียน และแห่ผ้าพระบาทจากวัดตะปอนน้อยไปทุกหมู่บ้าน ชาวบ้านจะออกมาไหว้สักการะ และรดน้ำพระบาท
- วันที่ 15-16 เมษายน มีการเล่นชักเย่อเกวียนพระบาทที่วัดตะปอนน้อย เน้นความสนุกสนาน สามัคคี
- วันที่ 17 เมษายนของทุกปี วัดตะปอนใหญ่จะจัดงานประเพณีการแข่งขันชักเย่อเกวียนพระบาท เป็นการแข่งขันที่ค่อนข้างจริงจัง เพื่อสะท้อนภาพถึงความศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อพุทธศาสนา ที่ต้องการนำ ผ้าพระบาทไปบูชาในชุมชนของตน จึงมีการประลองกำลังแข่งขันดึงเกวียนพระบาทกันอย่างสนุกสนาน

ชักเย่อเกวียน เป็นการเล่นอีกรูปแบบหนึ่งของกีฬาชักเย่อในประเทศไทยที่มีลักษณะเฉพาะตัวเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร โดยการนำเชือกมาผูกติดกับเกวียนทั้งด้านหน้าและด้านหลังเกวียน จากนั้นชาวบ้านจะแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งจะจับเชือกอยู่ด้านหน้าเกวียน ส่วนอีกฝ่ายจะจับเชือกอยู่ด้านหลังเกวียน ทั้งสองฝ่ายจะออกแรงดึงให้เกวียนเคลื่อนไปทางฝ่ายตน ฝ่ายใดออกแรงดึงให้เกวียนเคลื่อนผ่านเส้นแดนที่กำหนดไว้ในฝ่ายตนได้ ก็จะเป็นฝ่ายชนะ ชักเย่อเกวียนมีพัฒนาการมาจากพิธีกรรมทางศาสนาพุทธซึ่งมีประเพณีแห่พระพุทธรูปที่ประดิษฐานไว้บนเกวียนที่ตกแต่งประดับอย่างสวยงาม แล้วใช้เชือกยาวๆ หรือท่อนไม้ยาวๆ ผูกกับตัวเกวียน ให้ผู้คนจำนวนมากจับเชือกหรือท่อนไม้รวมพลังกันลากเกวียนที่มีองค์พระพุทธรูปเคลื่อนที่ไปรอบเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนสักการะได้ทั่วถึงที่เรียกว่า “ประเพณีชักพระ” สันนิษฐานว่ามีการเล่นชักเย่อเกวียนกันแล้วในสมัยกรุงสุโขทัย ราว พ.ศ. 1700 (ชัชชัย โกมารทัต, 2525) เนื่องจากปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีงานประเพณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาอยู่มากมายแล้วในสมัยนั้น ชักเย่อเกวียน มีชื่อเรียกกันในท้องถิ่นหลายชื่อ เช่น ชักเย่อเกวียนพระบาท และชักเย่อพระบาท เป็นต้น คำว่า “ ชักเย่อ” หมายถึงการชัก การดึง และการออกแรงเย่อกันดึงกัน คำว่า “เกวียน” หมายถึง ยานพาหนะที่ใช้ในสมัยโบราณ มีล้อ 2 ล้อ และใช้ควายหรือวัวเทียมลากให้ตัวเกวียนเคลื่อนที่ไป ส่วนคำว่า “พระบาท” เป็นคำราชาศัพท์ที่ใช้กับพระมหากษัตรย์ หรือ พระพุทธเจ้า หมายถึง “เท้า” ในที่นี้หมายถึง รอยเท้าของพระพุทธเจ้า ดังนั้น คำว่า “ชักเย่อเกวียน” จึงเป็นการเล่นชักเย่อโดยมีเกวียนอยู่ตรงกลาง เป็นเป้าหมายที่ผู้เล่นแต่ละฝ่ายจะต้องพยายามออกแรงดึงให้เข้าไปยังแดนตน ส่วนชักเย่อเกวียนพระบาท เป็นการเล่นชักดึงเกวียนซึ่งบรรทุกพับผ้าที่มีรอยพระบาทจำลองของพระพุทธเจ้า เปรียบดังการเล่นเพื่อยื้อแย่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือ รอยพระบาทของพระพุทธเจ้านั่นเอง นิยมเล่นกันในแถบตะวันออกของประเทศไทย โดยเฉพาะที่จังหวัดจันทบุรี มีท้องที่ที่เล่นชักเย่อเกวียน และปฏิบัติสืบทอดเป็นประเพณีต่อเนื่องยาวนานกว่า 100 ปี และยังคงมีการอนุรักษ์ ส่งเสริมการเล่นจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ที่ตำบลตะปอน และที่ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง ในการสืบค้นเบื้องต้น พบว่า ที่ตำบลตะปอนมีการสืบทอดประเพณีชักเย่อเกวียนที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า “ชักเย่อเกวียนพระบาท” มายาวนานกว่าที่อื่นๆ

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, พิธีประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติประจำปีพุทธศักราช 2558, 1, สํานักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2558, หน้า 139-145