RSPG-สถานีบูรพา เป็นเว็บแอพพลิเคชันและฐานข้อมูลภายใต้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-ม.บูรพา ที่รวบรวมข้อมูลทรัพยากรในภาคตะวันออกของไทย เปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี โดยสามารถอ้างอิงบทความวิจัยได้ ที่นี่

รู้จัก “ไลเคน” การรวมตัวของสาหร่าย และรา สู่ความสัมพันธ์แบบขาดเธอเมื่อไหร่ ขาดใจเมื่อนั้น

คุณกำลังอ่าน
รู้จัก “ไลเคน” การรวมตัวของสาหร่าย และรา สู่ความสัมพันธ์แบบขาดเธอเมื่อไหร่ ขาดใจเมื่อนั้น

เผยแพร่ : 18/12/2566

จำนวนผู้เข้าชม : 11,165

“เธอคือลมหายใจ เธอคือทุกสิ่ง~” เชื่อหรือไม่ว่าเนื้อเพลงรักแสนหวานฉ่ำอันนี้นั้น สามารถบรรยายความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศได้อย่างไม่น่าเชื่อ  โดยวันนี้เราจะมาพูดถึง “รา และสาหร่าย” ที่ทั้งสองขอจับมือกัน เพื่อพึ่งพากันและกัน จนกลายเป็นสิ่งมีชีวิตใหม่อย่าง “ไลเคน” นั่นเอง


รู้จักความสัมพันธ์แบบ “พึ่งพาอาศัย”

ต้องขอเล่าก่อนว่า “ระบบนิเวศ” ของเรานั้น ประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตที่อยู่รวมกันหลากหลายสายพันธ์ หลายชนิด ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดความสัมพันธ์ระหว่างกัน ทั้งสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน และสิ่งมีชีวิตต่างชนิด

ซึ่งเรามีชื่อเรียกมันว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างชนิด” (Interspecific interactions) ที่หมายถึงความเกี่ยวข้องหรือสายสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจากการอาศัยอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตต่างชนิดในระบบนิเวศ

โดยวันนี้เราจะมาพูดถึงหนึ่งในรูปแบบความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นที่สุดชนิดหนึ่ง นั่นก็คือ ภาวะพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ระยะยาวของสิ่งมีชีวิตที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ผลประโยชน์จากความสัมพันธ์ โดยที่ไม่สามารถแยกจากกันได้เลยตลอดช่วงชีวิต

เรียกได้ว่าตรงตามคำพูดที่ว่า “ขาดเธอเมื่อไหร่ ขาดใจเมื่อนั้น” อย่างแท้จริง

ไลเคน เมื่อรา และสาหร่ายจับมือกัน

ไลเคน มองเผิน ๆ เหมือนพืชสีเขียว ๆ ที่ชอบเกาะอยู่ตามต้นไม้ และป่าที่อุดมสมบูรณ์ แต่ที่จริงแล้ว มันเกิดจากการรวมกันของ “รา (Fungi)” และ “สาหร่าย (Algae)” อยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน (Mutualism) อาจเป็นได้ 3 รูปแบบ คือ

  1. ฟังไจกับสาหร่ายสีเขียว
  2. ฟังไจกับไซยาโนแบคทีเรีย
  3. ฟังใจกับสาหร่ายสีเขียวและไซยาโนแบคทีเรีย

โดยรา จะทำหน้าที่ให้ความชุ่มชื้นและแร่ธาตุแก่สาหร่าย ขณะที่สาหร่ายทำหน้าที่สร้างอาหารให้ราผ่านกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช

ลักษณะภายนอกของไลเคน จะเป็นแผ่น แนบสนิทไปกับเปลือกไม้หรือวัตถุที่เกาะ มนุษย์ใช้ไลเคนเป็นตัววัดในการตรวจสอบคุณภาพอากาศ เพราะถ้าที่ไหนอากาศมีมลพิษ ไลเคนก็จะอยู่ไม่ได้ เนื่องจากไลเคนไม่มีชั้นผิวป้องกันตัวจากมลพิษ สารพิษจึงสามารถเข้าไปทำลายสาหร่ายได้โดยตรง ดังนั้นเราจึงพบไลเคนได้ในบริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์เท่านั้น


เป็นยังไงกันบ้าง กับความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับไลเคน อีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตสุดมหัศจรรย์ที่โลกของเราได้สร้างขึ้น ใครที่อยากรู้จักสิ่งมีชีวิตแปลก ๆ อีก ก็ทักมาบอกกันได้ เดี๋ยวจะสรุปมาให้อ่านอีกแน่นอนจ้าา


Writer

ปองกานต์ สูตรอนันต์

Photographer

ทีมงาน RSPG