RSPG-สถานีบูรพา เป็นเว็บแอพพลิเคชันและฐานข้อมูลภายใต้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-ม.บูรพา ที่รวบรวมข้อมูลทรัพยากรในภาคตะวันออกของไทย เปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี โดยสามารถอ้างอิงบทความวิจัยได้ ที่นี่

โศกนาฏกรรมความรัก ‘เจ้าแม่เขาสามมุก’ จากตำนานที่เล่าขาน สู่ศาลเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์ของชลบุรี

คุณกำลังอ่าน
โศกนาฏกรรมความรัก ‘เจ้าแม่เขาสามมุก’ จากตำนานที่เล่าขาน สู่ศาลเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์ของชลบุรี

เผยแพร่ : 8/11/2566

จำนวนผู้เข้าชม : 13,855

เชื่อว่าใครที่เคยมาเที่ยวชลบุรี น่าจะคุ้นหูกับสถานที่เที่ยวอย่าง “เขาสามมุก” เขาเล็ก ๆ ที่ไม่ไกลจากชายหาดบางแสน ถิ่นของฝูงลิงอันเลื่องลือ และที่อยู่ของศาลเจ้าเจ้าแม่เขาสามมุกอันศักดิ์สิทธิ์ !

แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากวิวสวย ๆ น่าถ่ายรูปเล่นบนเขาแล้วนั้น สถานที่ชมวิวแห่งนี้ ยังมีตำนานที่เล่าขานกันมาในจังหวัดชลบุรี ซึ่งถือว่าเป็นโศกนาฏกรรมความรักที่น่าเศร้าไม่แพ้โรมิโอ และจูเลียตกันเลยทีเดียว

ถ้าอยากรู้แล้วว่าเรื่องราวความเป็นมามันเป็นยังไง ก็ไปอ่านกันได้เลยจ้า~


นานมาแล้วในบ้านอ่างหิน (หรือปัจจุบันคือ ต.อ่างศิลา) มีครอบครัวยายกับหลานคู่หนึ่งอาศัยอยู่ โดยหลานสาวมีชื่อว่า “มุก” หรือคนแถวนั้นจะเรียกเธอว่า “สาวมุก” โดยเธอเป็นเด็กกำพร้า ทำให้ต้องอยู่กับยายและตา จนเธอโตเป็นสาว

วันหนึ่ง สาวมุกที่ชอบไปนั่งเล่นอยู่เชิงเขาแถวอ่างศิลา บังเอิญเห็นว่าวตัวหนึ่งลอยมาตกอยู่บริเวณที่เธอนั่งพอดี โดยว่าวตัวนี้ ไม่ใช่ของใครที่ไหน แต่เป็นของ “นายแสน” ลูกชายกำนันประจำตำบลนี้นั่นเอง โดยนายแสนวิ่งตามมาเก็บว่าว และเกิดอาการรักแรกพบกำเริบเมื่อเจอมุก เขาจึงมอบว่าวเป็นสิ่งแทนตัวให้แก่เธอ

ทั้งสองนัดพบกันอยู่บ่อยครั้ง จนความผูกพันธ์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ทั้งสองตัดสินใจให้คำสาบานต่อกันที่หน้าเชิงเขาว่า “จะรักกันชั่วนิรันดร์ หากผิดคำสาบานจะกระโดดหน้าผาแห่งนี้ตายตามกัน” 

แน่นอนว่าเรื่องราวไม่ได้จบแค่นี้แน่ ๆ เพราะต่อมา เมื่อพ่อของแสน ซึ่งเป็นกำนันทราบเรื่อง จึงไม่พอใจที่ลูกชายไปรักกับผู้หญิงที่ไม่มีหัวนอนปลายเท้า เลยกีดกันไม่ให้พบกัน และจับแสนคลุมถุงชนกับลูกสาวของคนทำโป๊ะที่เคยสู่ขอไว้

ข่าวเรื่องการแต่งงานดังไปถึงหูของสาวมุก เธอคิดว่ามันคือเรื่องจริง และคิดว่าแสนหักหลังเธอ ด้วยความเจ็บช้ำ ทำให้เธอตัดสินใจทำตามคำสาบาน วิ่งไปกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตาย และเมื่อแสนรู้เรื่องอันน่าเศร้านี้เข้า เขาจึงกระโดดหน้าผา เพื่อตายตามเธอตามคำสัตย์สาบานเช่นกัน

ส่วนกำนัน ภายหลังรู้สึกสำนึกผิดจึงนำเครื่องถ้วยชามต่างๆ มาไว้ในถ้ำบริเวณเชิงเขา เพื่อเป็นที่ระลึกถึงความรัก ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกภูเขาที่มุกกระโดดหน้าผาตายว่า “เขาสาวมุก”เพื่อระลึกถึงมุก ผู้มั่นคงต่อความรัก ภายหลังจึงเพี้ยนเป็น “สามมุก” ในที่สุด

และบริเวณถ้ำนั้นเชื่อว่าเป็นถ้ำลับแลมีเครื่องถ้วยชามต่าง ๆ ที่กำนันพ่อของแสนนำมาไว้ เมื่อชาวบ้านมีงานบุญสามารถหยิบยืมไปใช้ได้ ซึ่งภายหลังถ้ำนี้ให้ปิดปากถ้ำไปแล้วเมื่อคราวก่อสร้าง ถนนสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่วนหาดที่พบศพหญิงชายทั้งสองหลังจากกระโดดหน้าผาตายนั้น ชาวบ้าน เรียกกันว่า “หาดบางแสน” เพื่อระลึกถึงนายแสน

ปัจจุบัน ตำนานเจ้าแม่เขาสามมุก ดำรงอยู่อย่างเข้มแข็ง เนื่องจากมีศาลสำหรับเป็นที่สักการะบูชา ศาลเจ้าแม่เขาสามมุกนั้น ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ศาลคือ ศาลเจ้าแม่เขาสามมุก (ไทย) และศาลเจ้าแม่เขาสามมุก (จีน) ทั้งนี้ศาลไทยเป็นศาลเก่าแก่ที่ใช้ตำนานประจำถิ่นที่เล่าเรื่องความรักของสาวมุกกับนายแสนในการเผยแพร่ประวัติเจ้าแม่เขาสามมุก ส่วนศาลจีนเป็นศาลเก่าแก่ของชุมชนคนจีนที่ใช้เรื่อง “เจ้าแม่ทับทิม” ในการเผยแพร่ประวัติเจ้าแม่เขาสามมุก เนื่องจากชาวจีนที่อ่างศิลาได้อัญเชิญกระถางธูปไฮตังม่าติดเรือมาจากเมืองจีน เมื่อมาตั้งรกรากใหม่ที่ชลบุรี จึงได้ตั้งศาลไฮตังม่าข้างศาลเจ้าแม่เขาสามมุกเดิม และใช้ชื่อศาลว่า ศาลเจ้าแม่เขาสามมุก (จีน) มาจนถึงทุกวันนี้


เป็นอย่างไรกันบ้างกับตำนานอันน่าเศร้านี้ สารภาพซะดี ๆ ว่าใครอ่านไป ซับน้ำตาตามไปด้วย เพราะมันเศร้าจริง ๆ TT ส่วนใครที่อยากอ่านตำนานที่เที่ยวที่ไหนอีก ก็มาบอกกันได้น้าา เดี๋ยวจะมาเล่าให้ฟังโอกาสหน้าจ้าา~


Writer & Photographer

ปองกานต์ สูตรอนันต์