RSPG-สถานีบูรพา เป็นเว็บแอพพลิเคชันและฐานข้อมูลภายใต้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-ม.บูรพา ที่รวบรวมข้อมูลทรัพยากรในภาคตะวันออกของไทย เปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี โดยสามารถอ้างอิงบทความวิจัยได้ ที่นี่

ย้อนรอยกว่าจะเป็น ‘ประเพณีวันไหล’ เทศกาลที่สืบทอดจาก ‘ความหลงใหล’ ของชาวชลบุรี 

คุณกำลังอ่าน
ย้อนรอยกว่าจะเป็น ‘ประเพณีวันไหล’ เทศกาลที่สืบทอดจาก ‘ความหลงใหล’ ของชาวชลบุรี 

เผยแพร่ : 8/4/2565

จำนวนผู้เข้าชม : 2,064

‘วันสงกรานต์’ อาจเป็นวันหยุดยาวที่ชาวไทยหลายคนตั้งตารอ แต่สำหรับชาวชลบุรีแล้ว ‘วันไหล’ ต่างหาก ที่พวกเขานับวันให้มาถึง !

นอกจากจะได้โบนัสหยุดเพิ่มต่อจากช่วงสงกรานต์แล้ว วันไหลยังเป็นเทศกาลที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวชลบุรีอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะความครึกครื้นของการจัดประกวดก่อเจดีย์ทราย แสงสีของงานรื่นเริง หรือแม้กระทั่งเสียงหัวเราะของผู้คนที่เคล้าไปกับเสียงคลื่นได้อย่างลงตัว ทั้งหมดคือเสน่ห์ของ ‘วันไหล’ ที่คนชลบุรีตั้งแต่เกิดอย่างเราคุ้นเคยเป็นอย่างดี

แม้เราจะกล้าพูดว่าไม่เคยพลาดงานวันไหลเลยสักครั้งเดียว แต่ถ้าถามถึงความเป็นมา และเรื่องราวมีสาระที่ซ่อนอยู่ภายใต้ประเพณีนี้ล่ะก็ ต้องขอออกตัวไว้ก่อนเลยว่า ไม่รู้อะไรมากกว่าไปกว่า วันที่จัดงานอย่าง 17-18 เมษายน /แต่อย่าเพิ่งกดปิดกันไป ! เพราะเราได้ทำการค้นคว้าหาข้อมูลมาแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย เอาให้ไม่เสียชื่อชาวชลบุรีเลยทีเดียว

ถ้าพร้อมจะตามไปรู้จัก ‘เทศกาลวันไหล’ นี้ให้มากขึ้น ก็เลื่อนลงไปอ่านกันได้เลย

จากธรรมเนียนขนทรายเข้าวัด สู่ ‘ประเพณีก่อพระทรายน้ำไหล’

ถ้าจะให้เล่าถึงประวัติของเทศกาลวันไหล เห็นทีต้องขอเท้าความไปตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองของพุทธศาสนา โดยประชาชนผู้ศรัทธามักจะนิยมสร้างพระเจดีย์ภายในวัด ไม่ว่าจะวัดใหญ่หรือวัดเล็ก ก็ต้องมีเจดีย์เชิดหน้าชูตากันทุกแห่ง แต่แน่นอนว่าการจะสร้างเจดีย์ ไม่ได้ดีดนิ้ว แล้วเสกขึ้นมาได้เลย แต่จำเป็นต้องใช้วัสดุและอุปกรณ์ในการก่อสร้าง และ “ทราย” เองก็เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญที่ขาดไม่ได้

สำหรับชลบุรี ก็ได้อิทธิพลมาจากธรรมเนียมขนสร้างเข้าวัดนี้เช่นเดียวกัน โดยในช่วงฤดูร้อนใกล้ฤดูฝน ชาวบ้านจะรวมตัวกันขนทรายตามชายหาดใกล้ ๆ เข้ามาในวัด เพื่อใช้ในการก่อสร้างเจดีย์ และปรับปรุงซ่อมแซมตัววัดแบบสารพัดประโยชน์ จนเกิดเป็นประเพณีที่เรียกว่า “ก่อพระทรายน้ำไหล”

นานวันเข้า วันก่อพระทรายน้ำไหล ก็เริ่มพัฒนามีลูกเล่นมากขึ้น โดยชาวบ้านจะนำทรายที่ขนเข้ามา ก่อเป็นรูปกรวยเล็ก ๆ ให้ครบ 84,000 กอง เท่ากับจำนวนของพระธรรมขันธ์ พร้อมทั้งบรรจงนำดอกไม้มาตกแต่งกองทรายเหล่านั้นสวยงาม เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีการละเล่นพื้นเมือง ไปจนถึงงานทอดผ้าป่าทำบุญครั้งใหญ่

เมื่อเทคโนโลยีพัฒนา ประเพณีเก่า ๆ ก็จางหาย

หลังจากผ่านเวลามานานวันเข้า สิ่งที่เรียกว่า “ยานพาหนะ” ก็พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด การขนทรายเข้าวัดด้วยแรงคน ไม่ได้จำเป็นเท่าเมื่อก่อนแล้ว เพราะเรามีรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า และรวดเร็วกว่าในการใช้ขนทราย ประกอบกับสภาพบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป การสร้างเจดีย์ในแต่ละวัด ไม่ใช่เรื่องที่สำคัญขนาดนั้นแล้ว จึงเป็นผลทำให้ ‘งานก่อพระทรายน้ำไหล’ จางหายไป

สุดท้ายเมื่อไม่ได้มีการก่อพระทราย จึงลดชื่อให้สั้นลงเหลือแค่ ‘ประเพณีวันไหล’ คงความสนุกสนานความรื่นเริงไว้เหมือนเดิม และจัดต่อเนื่องสืบทอดกันมา

กระตุ้นการท่องเที่ยว สร้างวันสำคัญที่ใครก็อยากมาเยือน

ไม่ใช่แค่ชาวชลบุรีเท่านั้นที่หลงใหลในงานวันไหล แต่คนไทยทั้งประเทศ และอาจรวมถึงคนต่างชาติ ต่างก็ตื่นเต้นกับงานวันไหล และอยากจะมาสัมผัสบรรยากาศเหล่านั้นดูสักครั้ง

ทั้งหมดต้องยกความดีความชอบให้การส่งเสริมของเทศบาล ที่จัดสารพัดกิจกรรมมาดึงดูดใจนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น การทำบุญใส่บาตร การสรงน้ำพระพุทธรูป การเล่นสาดน้ำสงกรานต์ การก่อพระเจดีย์ทราย การแข่งขันกีฬาพื้นเมือง การแข่งขันด้านอาชีพ และอื่น ๆ อีกมากมาย และในปี พ.ศ. 2540 การจัดงานประเพณีวันไหลชายหาดบางแสนได้เปลี่ยนชื่องานเป็น งานก่อพระทรายวันไหลบางแสน ตราบมาจนถึงปัจจุบัน


เป็นอย่างไรกันบ้าง ได้อ่านประวัติความเป็นมาของประเพณีวันไหลแบบนี้ เชื่อว่าหลายคนน่าจะเล่นน้ำกันได้อย่างสนุกสนานมากขึ้นเป็นเท่าตัว ! แต่ช่วงโควิดแบบนี้ จะสาดน้ำใส่ใคร ก็ระมัดระวังกันด้วยนะ~


Writer

ปองกานต์ สูตรอนันต์

Photographer

ปองพล สูตรอนันต์