วัฒนธรรมดนตรีกับวิถีชีวิต
ในท้องถิ่นภาคตะวันออก
กรณีศึกษาคณะเพลงขอทาน บ้านทุ่งไก่ดัก จังหวัดตราด
The Culture of Music and Indigenous living in eastern region : A Case study of Beggar Song, Bantungkaidug Company, Trad Province
อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรี
คณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพทางด้านดนตรีวิทยา มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อสำรวจแหล่งข้อมูลพื้นฐานทางวัฒนธรรมดนตรีกับวิถีชีวิตชุมชนในท้องถิ่นภาคตะวันออก : กรณีศึกษาคณะเพลงขอทาน บ้านทุ่งไก่ดัก จังหวัดตราด 2) เพื่อนำข้อมูลวัฒนธรรมดนตรีกับวิถีชีวิตชุมชนในท้องถิ่นภาคตะวันออก : กรณีศึกษาคณะเพลงขอทาน บ้านทุ่งไก่ดัก จังหวัดตราด มาบันทึกตามกระบวนการทางด้านดนตรีวิทยา
ผลการศึกษาพบว่า คณะเพลงขอทาน บ้านทุ่งไก่ดัก เป็นชาวไทยชองที่สืบเชื้อสายต่อๆ กันมา อาศัยที่บ้านทุ่งไก่ดัก ตำบลท่ากุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดตราด สืบทอดวัฒนธรรมดนตรีเพลงขอทานต่อๆ กันมาโดยใช้วิธีถ่ายทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ ปัจจุบันมีนางอร สุขัง เป็นหัวหน้าคณะ โดยรับช่วงสืบทอดมาจากพ่อและแม่ และยังไม่มีผู้สืบทอด ลักษณะการแสดงของคณะเพลงขอทาน บ้านทุ่งไก่ดัก
เป็นเพลงขอทานที่ใช้สำหรับร้องในงานบุญช่วงประเพณีสงกรานต์เท่านั้น ไม่ได้ประกอบเป็นอาชีพหารายได้เลี้ยงครอบครัว รูปแบบอัตลักษณ์ของบทเพลง เกิดจากความเฉพาะเจาะจงของทำนองเพลงที่จดจำสืบทอดกันมา มีอัตลักษณ์เฉพาะคือ “การเอื้อน” ทำนองที่เน้นลีลาการเอื้อน โดยเฉพาะในช่วงหางเสียง ซึ่งจะต่างจากคณะอื่นๆ ที่การเอื้อนหางเสียงจะห้วนกว่า จำเป็นจะต้องจดจำลีลาการเอื้อนให้แม่นยำเพราะไม่มีการจดบันทึก ส่วนคำร้องใช้การจำและจดบันทึกไว้สำหรับการถ่ายทอด ในส่วนบทบาทของงานดนตรีกับประเพณีในวิถีชีวิตของชุมชน จากการรวมกลุ่มกันในช่วงวันสงกรานต์ เพื่อไปขอรับบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อนำไปถวายวัด เป็นการสร้างความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้เกิดความสามัคคี มีความเป็นเจ้าของเป็นส่วนร่วมของชุมชน ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง