สืบสาน ‘ประเพณีกองข้าว’ พิธีบวงสรวงศักดิ์สิทธิ์ของชาวชลบุรี
เผยแพร่ : 30/10/2566
จำนวนผู้เข้าชม : 4,684
แบบนี้ก็มีด้วยเหรอ ?! ใครจะคิดว่าหลังสงกรานต์ งานเทศกาลที่ชาวไทยอย่างเราคุ้นเคย จะมีอีกหนึ่งประเพณีที่ชาวชลบุรีนิยมทำกันมาตั้งแต่อดีต อย่าง “ประเพณีกองข้าว” ซึ่งแค่ได้ยินชื่อ หลายคนน่าจะส่ายหัวเพราะไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่เราขอบอกเลยว่า นี่เป็นประเพณีโบราณที่มาจากวิถีชีวิตของชาวชลบุรีอย่างแท้จริง !
ไม่เชื่อใช่มั้ยล่ะ ? ถ้าอยากรู้ว่า “ประเพณีกองข้าว” คืออะไร และเกี่ยวข้องกับศรีราชา จ.ชลบุรีอย่างไรนั้น ก็ตามไปทำความรู้จักกันเลยจ้า ~
อย่างที่รู้กันดีว่า ประเพณีมักเกิดขึ้นจากวิถีชีวิตของคนในบริเวณนั้น ที่นิยมทำและสืบทอดต่อกันมาเป็นเวลานาน ซึ่งสำหรับชาวชลบุรีที่อยู่ติดทะเลนั้น ในอดีตที่วิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญเท่าปัจจุบัน พวกเขาต่างก็บูชาภูติผีปีศาจ ไปจนถึงเทวดาอารักษ์กันเป็นเรื่องปกติ
ดังนั้นก่อนเหล่าชาวประมงจะออกไปหาปลา พวกเขาจึงมีการเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์บริเวณชายหาดทุกครั้งเพื่อความเป็นสิริมงคล และนี่คือจุดเริ่มต้นของวิถีชีวิตที่กำลังจะก่อเกิดเป็นพิธีกรรมนั่นเอง
โดยประเพณีกองข้าวมักจะนิยมจัดหลังจากสงกรานต์ประมาณ 3-5 วัน โดยชาวบ้านบริเวณชายทะเล จะนำอาหารคาวหวาน และอาหารพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็น แจงลอน, ขนมเต่า ไปจนถึงปิ้งงบ ไปรวมตัวกันที่ชายทะเล จากนั้นก็นำอาหารที่เตรียมมาแบ่งใส่กระทงใบตอง แล้วนำไปวางริมชายหาด และปิดท้ายด้วยการจุดธูป 1 ดอก เพื่ออัญเชิญภูติผีปีศาจบริเวณนั้นมากิน ภายใต้ความเชื่อว่า ถ้าพวกเขากินอย่างอิ่มหนำแล้ว ก็จะไม่มากวนใจชาวบ้านที่ออกทะเลนั่นเอง
สำหรับอาหารที่เหลือ ห้ามเอากลับบ้านเป็นอันขาด โดยชาวบ้านจะมาร่วมกันทานอาหารหลังจากที่ไหว้เสร็จ ส่วนที่ทานไม่หมด ก็นำไปเลี้ยงสัตว์บริเวณนั้น เพื่อเป็นการให้ทาน
แต่สำหรับปัจจุบัน ศรีราชาได้เจริญเติบโตและพัฒนาไปเป็นเมืองอุตสาหกรรมอันดับต้น ๆ ของประเทศ มีชาวต่างชาติทั้งจีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีเข้ามาอาศัยเป็นจำนวนมาก ทำให้ประเพณีกองข้าวที่เคยสืบทอดมาในอดีต ได้ลดน้อยลงตามความเชื่อที่น้อยลงตามไปด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าคนชลบุรีบางคน ก็ยังไม่รู้จักประเพณีนี้เลยด้วยซ้ำ
Writer & Photographer
ปองกานต์ สูตรอนันต์