RSPG-สถานีบูรพา เป็นเว็บแอพพลิเคชันและฐานข้อมูลภายใต้ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-ม.บูรพา ที่รวบรวมข้อมูลทรัพยากรในภาคตะวันออกของไทย เปิดให้เข้าใช้งานได้ฟรี โดยสามารถอ้างอิงบทความวิจัยได้ ที่นี่

พาทัวร์ใต้เปลือกหอย! ของ “หมึกงวงช้าง” ต้นแบบเรือดำน้ำ

คุณกำลังอ่าน
พาทัวร์ใต้เปลือกหอย! ของ “หมึกงวงช้าง” ต้นแบบเรือดำน้ำ

เผยแพร่ : 1/8/2564

จำนวนผู้เข้าชม : 1,614

มนุษย์เรามักคิดอยู่เสมอว่าตัวเองเป็น “ผู้ริเริ่ม” ทุกอย่างบนโลกใบนี้ ด้วยมันสมองที่ชาญฉลาดเกินกว่าสัตว์ประเภทไหน ๆ ประกอบกับความคิดสร้างสรรค์ คุณสมบัติพิเศษที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตชนิดใดเทียบเคียงได้ แต่ที่จริงแล้วต้นแบบของสิ่งประดิษฐ์อันไม่น่าเชื่อหลายชิ้นกลับมาจาก “สัตว์” ที่หลายคนมองข้าม

เช่นเดียวกับ “เรือดำน้ำ” เราฝันว่าอยากจะดำดิ่งสู่โลกใต้ท้องทะเล แล้ววิธีไหนล่ะที่ทำให้มนุษย์ผู้ใช้ขาเดิน สามารถลงไปใช้ชีวิตใต้น้ำได้ดั่งเช่นปลา? เมื่อความฝัน บวกกับความช่างสังเกต สุดท้ายแล้วเราก็ค้นพบกับสิ่งมีชีวิตที่ใช้ชีวิตอยู่กลางกระแสน้ำด้วย “เปลือก” ที่ถูกออกแบบมาอย่างดี จนทำให้มันกลายเป็นต้นแบบเรือดำน้ำจนถึงทุกวันนี้

เรากำลังพูดถึง “หมึกงวงช้าง” หรือ “Nautilus” สิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่ซ่อนความมหัศจรรย์ไว้ใต้เปลือกหอย วันนี้เราจะพาทุกคน ไปไขความลับ ค้นทุกซอก หาทุกมุมภายใต้เปลือกหอยกันเลย!

หมึกหรือหอย?

ก่อนจะเข้าเรื่อง เรามาวอร์มอัปด้วยคำถามง่าย ๆ กันก่อนดีกว่า 
เพื่อน ๆ คิดว่า สิ่งมีชีวิตที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ เป็น “หมึก” หรือ “หอย” กันแน่?

คำตอบนี้ง่ายมาก! เพราะเจ้าสิ่งมีชีวิตชนิดนี้เป็นทั้ง หมึกและหอย นั่นเอง
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า หมึกและหอยนั้น อยู่ใน “ไฟลัมมอลลัสกา” (Mollusca) 1 ใน 9 ไฟลัมของการแบ่งประเภทสิ่งมีชีวิตตามอนุกรมวิธานวิทยา (Taxonomy) โดยลักษณะเด่นของไฟลัมนี้ก็คือ

1.รูปร่างสมมาตรแบบครึ่งซีกหรือสมมาตรแบบซ้ายขวา (Biradial Symmetry) 
2.ส่วนใหญ่มีระบบหมุนเวียนโลหิตแบบเปิด (Open Circulatory System) 
3.มีระบบทางเดินอาหารที่สมบูรณ์ คือ มีปาก คอหอย หลอดอาหาร กระเพาะ ลำไส้ และทวารหนัก
4.มีร่างกายอ่อนนิ่ม แต่มีโครงร่างแข็งห่อหุ้ม

หรือจะอธิบายให้เข้าใจง่ายก็คือ หมึก ถือเป็นหอย ที่ผ่านการอัปเกรดฟังก์ชันให้สามารถเคลื่อนที่ได้เร็วกว่า หาอาหารได้ง่ายกว่า

สัดส่วนทองคำ ความลับใต้เปลือก

ภาพเปลือกหอยด้านใน

หากผ่าครึ่งเปลือกของหมึกงวงช้างดู จะพบว่าภายในเปลือกรูปทรงเกลียวนั้น เต็มไปด้วยห้องจำนวนมากที่ถูกออกแบบมาอย่างปราณีต ความพิเศษอย่างแรกที่เราเจอก็คือเมื่อลองเทียบอัตราส่วนระหว่างเส้นผ่านศูนย์กลางของวงเปลือกหอยวงในต่อวงเปลือกหอยวงนอก จะมีค่าเท่ากับ 1 : 1.618 เสมอ ซึ่งเราเรียกความพิเศษนี้ว่า “สัดส่วนทองคำ” (Golden Ratio) โดยเราสามารถนำสัดส่วนทองคำนี้ไปใช้ในงานออกแบบมากมายทั้ง โลโก้ โครงสร้างสถาปัตยกรรม การถ่ายภาพ และอื่น ๆ อีกมากมาย  

สเต็ปการดำน้ำสุดเทพ!

สเต็ปการดำน้ำสุดเทพ! ของหมึกงวงช้าง

นอกจากความสวยงามของสัดส่วนทองคำภายในเปลือกหอยแล้ว ความพิเศษอีกหนึ่งอย่างที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ ภายในห้องของเปลือกหอยนั้น จะมีรูเล็ก ๆ ที่สามารถทะลุถึงกันตั้งแต่ห้องด้านนอก ไปจนถึงห้องด้านในสุด ซึ่งเจ้าสิ่งนี้เองที่เป็นตัวช่วยในการลอยหรือจมของหมึกงวงช้าง

อธิบายง่าย ๆ ก็คือเมื่อมันต้องการลงไปหาอาหารใต้ทะเล ก็จะทำการดูดน้ำทะเลเข้าไปให้เต็มห้องภายในเปลือกหอย เมื่อตัวมันหนัก ก็จะสามารถดำลงไปใต้ทะเลได้ หรือถ้าเกิดอยากจะขึ้นไปสูดอากาศบนผิวน้ำ ก็แค่ทำการปล่อยน้ำออกจากรูภายในห้อง ก็จะทำให้ตัวเบา แล้วสามารถลอยตัวขึ้นไปด้านบนได้นั่นเอง 

ต้นแบบ “ห้องอับเฉา” ในเรือดำน้ำ

เพราะฝีไม้ลายมือในการดำน้ำสุดครีเอท ทำให้มนุษย์เรานำมาปรับใช้กับเรือดำน้ำ โดยสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ห้องอับเฉา” ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมการดำลงและลอยขึ้นของตัวเรือ ทำงานคล้ายกับเปลือกหอยของหมึกงวงช้างคือ เมื่อต้องการให้เรือจมลง ก็จะสูบน้ำเข้าห้องอับเฉา และเมื่อต้องลอยตัวขึ้น ก็จะไล่น้ำออกจากห้องอับเฉา เพื่อให้อากาศมาแทนที่จนเรือมีความถ่วงจำเพาะน้อยกว่าน้ำ และลอยขึ้นในที่สุด ห้องอับเฉาเรือนั้นไม่ได้มีหน้าที่แค่ทำให้เรือจมหรือลอยเท่านั้น แต่ยังช่วยในการปรับจุดศูนย์ถ่วงของเรือ ช่วยในการทรงตัว โดยเฉพาะเวลาแล่นอยู่ในทะเลเปิด 

ทั้งสัดส่วนทองคำ รูเล็ก ๆ ภายในห้องใต้เปลือกหอย วิธีการดำน้ำสุดเจ๋ง รวมไปถึงความพิเศษอื่น ๆ อีกมากมาย จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไม “หมึกงวงช้าง” จึงได้เป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่มหัศจรรย์ที่สุดชนิดหนึ่ง อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น มนุษย์เรามักคิดอยู่เสมอว่าตนเองอยู่เหนือกว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิด แต่แท้จริงแล้วสัตว์น้อยใหญ่ที่เรามองข้ามนั้น กลับซ่อนความลับสุดพิเศษที่เราไม่เคยรู้ไว้มากมาย และบางครั้งความลับเหล่านั้น ก็กลายเป็นต้นแบบของสิ่งประดิษฐ์ให้เราใช้ประโยชน์ได้อีกมากมาย โดยที่คุณไม่รู้มาก่อนเลยก็เป็นได้

Writer

ปองกานต์ สูตรอนันต์

Photographer

จารินี คงทรัพย์