“คณะเพลงขอทานบ้านทุ่งไก่ดัก” ประเพณีร้องแลกของ ความทุ่มเทที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน
เผยแพร่ : 3/10/2565
จำนวนผู้เข้าชม : 802
“เลิกเรียนแล้ว ไปร้องคาราโอเกะกันมั้ย?”
ประโยคสุดเบสิกที่เรามักจะได้ยินเหล่าวัยรุ่นที่เครียดกับมรสุมงาน
เอ่ยปากเชิญชวนเดอะแก๊งค์ไปปลดปล่อยความเหนื่อยล้าที่เจอมา
เพราะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้วัฒนธรรมการสังสรรค์ของคนเปลี่ยนตามไปด้วย
แต่บางครั้งมันก็เร็วเกินไปจนทิ้ง “ประเพณี” บางอย่างไว้ด้านหลัง
“เพลงขอทาน” ประเพณีร้องแลกของที่ไม่ใช่ขอทานก็ร้องได้
ย้อนกลับเมื่อต้นรัตนโกสินทร์ สมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย งานสังสรรค์ของคนสมัยนั้นมักเกิดขึ้นรั้ววัด วัดใดที่มีการทอดกฐินจะมีการแสดงมาคู่ด้วยเสมอ ไม่ว่าจะโขน ละคร รวมไปถึง “ลำภาข้าวสาร” หรือ “เพลงขอทาน” ประเพณีที่มีต้นกำเนิดจากพระองค์เจ้าวัชรีวงศ์หรือพระองค์ขาว พระโอรสในรัชกาลที่ 2
นอกจากการร้องรำทำเพลงเพื่อความบันเทิงแล้ว
เพลงขอทานยังมีจุดประสงค์แฝงในการร้องเพื่อรับบริจาคสิ่งของไปทำบุญถวายวัด แต่เพราะ “ความป๊อป” ของโชว์นี้ ทำให้มีคนเลียนแบบและยึดเป็นอาชีพร้องแลกของ ประทังชีวิตในเวลาต่อมา
คณะเพลงขอทานบ้านทุ่งไก่ดัก
ถึงแม้ว่าความป๊อปปูล่าของเพลงขอทานในสมัยนี้จะเทียบไม่ได้กับสมัยก่อน แต่โชคยังดีที่ “เพลงขอทาน” ยังมีกลุ่มคนที่สืบทอดประเพณีโบราณนี้อยู่ อย่าง “คณะเพลงขอทานบ้านทุ่งไก่ดัก” ตำบลท่ากุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดตราด กลุ่มคนไทยเชื้อสายชองที่ได้รับสืบทอดประเพณีเพลงขอทานต่อๆ กันมาจากบรรพบุรุษ
“ป้าอร สุขัง” หัวหน้าคณะวัย 79 ปี
เล่าให้ฟังว่าเพลงขอทานของคณะบ้านทุ่งดักไก่เป็นเพลงที่ใช้สำหรับร้องในงานบุญช่วงประเพณีสงกรานต์เท่านั้น ไม่ได้ยึดเป็นอาชีพ ลักษณะเด่นของคณะป้าอรคือ “การเอื้อน” ในช่วงหางเสียงที่สะกดใจผู้ฟังได้อย่างอยู่หมัด
คณะเพลงขอทานแต่ละคณะจะเป็นตัวแทนของวัดต่างๆ ในชุมชน เพื่อเดินร้องเพลงขอรับสิ่งของบริจาค คณะของป้าอรจะเริ่มออกร้องเพลงขอทานในช่วงประเพณีสงกรานต์เดือนเมษายนจนถึงช่วงประเพณีขนทรายเข้าวัด เป็นเวลาประมาณ 5 วัน ตั้งแต่เวลา 5 โมงเย็นจนถึงเที่ยงคืน
ของที่ได้จากการบริจาคส่วนมากจะเป็นข้าวสาร กะปิ น้ำปลา อาหารแห้งต่าง ๆ รวมถึงเงิน ระหว่างการเดินขบวน บางบ้านจะออกเพลงคลอตามไปด้วย รวมถึงเตรียมข้าวต้ม และขนมเอาไว้แจกคณะเพลงขอทาน ถือเป็นบรรยากาศอบอุ่นที่หาไม่ได้ที่ไหน
วัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงตามกฎของเวลา
เพราะสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้วัฒนธรรมการร้องเพลงขอทานเปลี่ยนตามไปด้วย ป้าอรเล่าต่ออีกว่า
จากเดิมที่สามารถเดินร้องรำทำเพลงไปตามบ้านได้อย่างสนุกสนาน
ปัจจุบันต้องมีการขอใบอนุญาตจากทางการถึงจะสามารถเดินร้องเพลงได้
ประกอบกับอาชีพที่เปลี่ยนจากเกษตรกรรมเป็นรับราชการและค้าขาย
ทำให้สิ่งของที่ได้เปลี่ยนจากผลหมากรากไม้เป็นเงินสดแทน
ถึงแม้จะได้เงินสดจากการเดินร้องเพลง
แต่คณะเพลงขอทานบ้านทุ่งดักไก่ก็ยังคงยึดมั่นในความตั้งใจที่จะนำเงินที่ได้ไปทำบุญทั้งหมด โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ
ป้าอรกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “คณะของตนจะทำไปจนกว่าจะทำไม่ไหว และจะมุ่งมั่นสืบสานวัฒนธรรมนี้ต่อไป”
การเข้ามาของวัฒนธรรมจากหลากเชื้อชาติ รวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกเทคโนโลยี ทำให้รูปแบบการสังสรรค์ของคนในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป งานวัดกลายเป็นแหล่งรวมตัวของคนสูงอายุ ในขณะที่ห้องคาราโอเกะกลายเป็นแหล่งรวมตัวของวัยรุ่น
เราได้แต่หวังเพียงว่าประเพณีเพลงขอทานที่ทุ่มเทหยาดเหงื่อเพื่อแลกกับสิ่งของบริจาคเหล่านี้ จะยังคงอยู่และสืบทอดเจตนารมณ์ในการทำดีแต่ไม่หวังสิ่งตอบแทนต่อไป
แหล่งที่มา รณชัย รัตนเศรษฐ. 2559. วัฒนธรรมดนตรีกับวิถีชีวิตในท้องถิ่นภาคตะวันออก : กรณีศึกษาคณะเพลงขอทาน บ้านทุ่งไก่ดัก จังหวัดตราด. มหาวิทยาลัยบูรพา, คณะดนตรีและการแสดง, สาขาวิชาดนตรี.
ข้อมูลโดย
Writer
ปองกานต์ สูตรอนันต์
Photographer
ปองพล สูตรอนันต์